ลูก ๆ อยู่กับหน้าจอมากเกินไป พ่อ-แม่ ทำอย่างไรดี ?


เชื่อว่าในหลาย ๆ ครอบครัวกำลังประสบปัญหาลูกติดมือถือ หรือ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป และผู้ปกครองหลายท่านอาจยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร วันนี้นักกิจกรรมบำบัดจึงมีข้อมูลดี ๆ มาร่วมแบ่งปันให้แก่ผู้ปกครองทุกท่านได้ลองไปปรับใช้กับลูก ๆ ที่บ้านครับ
ปัจจุบันโลกของเราเข้าสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ทุกคนสามารถรับข้อมูลข่าวสาร และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยที่เด็กยุคใหม่จะมีโอกาสในการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในอนาคตเด็กไทยมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ (1)
การที่เด็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแน่นอนว่าเด็กจะได้รับความบันเทิงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงจากการรับชมสื่อประเภทวิดีโอ ภาพยนต์ การ์ตูน หรือได้รับจากการเล่นเกมต่าง ๆ อีกทั้งบางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่อาจใช้หน้าจอเป็นตัวช่วยเพื่อลดความวุ่นวายของลูก ๆ เพื่อให้ไม่รบกวนในขณะที่ปกครองทำงานหรือทำกิจกรรมระหว่างวัน ทั้งนี้ผู้ปกครองควรสังเกตหากเด็กเริ่มติดหรือใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป หมกหมุ่นอยู่กับหน้าจอจนกระทบกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อาจเป็นสัญญานเตือนว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมติดหน้าจอ และหากปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเด็ก ๆ ตามมาได้ (2, 3) เช่น
-
ส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้าน
-
ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้ไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย
-
ส่งผลต่อการนอน ทำให้นอนหลับยาก นอนหลับไม่เพียงพอ
-
ส่งผลต่อการเรียน ทำให้ขาดสมาธิ กระทบต่อทักษะที่สำคัญในการเรียน
-
ปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น มีพฤติกรรมรุนแรง ใจร้อน โมโหง่าย
-
ขาดโอกาสในการเล่น หรือการทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามช่วงวัย
-
ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง

เด็กแต่ละวัยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแค่ไหนถึงจะพอดี ? (4, 5)
- ช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่ควรให้เด็กใช้หน้าจอ แต่ควรใช้การเล่านิทาน ร้องเพลง จากผู้ปกครองเพื่อสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็ก
- ช่วง 1-2 ปี ไม่ควรให้เด็กใช้หน้าจอ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กควรได้รับการส่งเสริมทักษะด้านภาษาและการสื่อสารผ่านการเล่นร่วมกับผู้ปกครอง ทั้งนี้ในเด็กวัย 2 ปีอาจเริ่มมีการให้ดูหน้าจอได้บ้าง แต่ไม่ควรเกิน 60 นาทีต่อวัน
- ช่วง 3-4 ปี ไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเกิน 60 นาที วัยนี้ควรมีการเล่นที่ซับซ้อน มีเรื่องราว มีกติกาและมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนมากขึ้นผ่านการเล่นที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมทักษะก่อนเข้าวัยเรียน
- ช่วง 5 ปีขึ้นไป ไม่ควรเกิน 120 นาที ต่อวัน ช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีความเป็นตัวเองมากขึ้น มีความสนใจที่หลากหลาย เป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาความชอบของตนเอง ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจของเด็ก
เคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองในการให้เด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอให้น้อยลง
-
ตัวอย่างที่ดี
หากผู้ปกครองห้ามเด็กไม่ให้ใช้หน้าจอหรือเล่นโทรศัพท์ แต่ผู้ปกครองกลับมีการใช้หน้าจอให้เด็กเห็นอยู่เสมอ อาจทำให้เด็กรู้สึกสับสนหรือรู้สึกคับข้องใจได้ว่าทำไมพ่อแม่ถึงเล่นได้ แต่ตัวเค้าเองเล่นไม่ได้ ทั้งนี้ผู้ปกครองอาจลดเวลาการใช้หน้าจอเมื่ออยู่กับลูก ๆ ลง แล้วลองเปลี่ยนเวลาหน้าจอมาเป็นเวลาในการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูก ๆ แทน
-
ใช้หน้าจอให้เกิดประโยชน์
ผู้ปกครองสามารถใช้หน้าจอร่วมกับเด็ก ๆ ผ่านการเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านหน้าจอเพื่อส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ได้ เช่น ดูคลิปวิดีโอสั้น ๆ ด้วยกันหลังจากนั้นชวนลูก ๆ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งดูไป เล่นเกมเสริมทักษะ เช่น เกมจับผิดภาพ เป็นต้น หรือชวนดูคลิปทำอาหารง่าย ๆ แล้วลงมือทำร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
-
วางเงื่อนไขและให้เด็กเลือก
อาจจะเป็นเรื่องยากหากจะห้ามไม่ให้เด็กใช้หน้าจอ ผู้ปกครองควรให้เด็กเล่นหรือดูเป็นเวลา ไม่เล่นนานจนเกินไป หรือเล่นมากจนกระทบกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองสามารถทำข้อตกลงร่วมกันกับเด็กเพื่อหาเวลาในการใช้หน้าจอที่เหมาะสม โดยผู้ปกครองอาจกำหนดตัวเลือกที่พิจารณาแล้วว่ายอมรับได้ แล้วให้เด็กเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง เช่น ให้เด็กเลือกว่าจะเล่นหน้าจอครั้งละ 20 นาที 30 นาที หรือ 40 นาที หรือกำหนดช่วงเวลาที่ผู้ปกครองเห็นว่ามีความเหมาะสมให้เด็กเป็นผู้เลือกว่าต้องการใช้หน้าจอช่วงเวลาใด เช่น จะเล่นหลังทำการบ้านเสร็จ เล่นเฉพาะวันหยุด เล่นหลังจากทานข้าวและอาบน้ำเสร็จแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้การที่เด็กได้มีโอกาสเลือกเองนั้นจะทำให้เด็กจะรู้สึกถึงอิสระ ไม่ถูกบังคับ และทำให้เด็กยอมรับเงื่อนไขของผู้ปกครองได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
-
ใช้หน้าจอเป็นรางวัล
ผู้ปกครองสามารถใช้หน้าจอเพื่อเป็นรางวัล หรือข้อต่อรองได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมบางอย่างให้บรรลุเป้าหมายเช่น หากวันนี้หนูทานข้าวด้วยตัวเองจนหมดจะได้ดูการ์ตูน 1 ตอน หรือ หากหนูทำการบ้านเสร็จเร็ววันนี้คุณแม่จะเพิ่มเวลาในการดูการ์ตูนให้อีก 10 นาที เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถใช้การให้รางวัลร่วมกับการวางเงื่อนไขไปพร้อม ๆ กันได้ เพื่อให้เด็กคงพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น
-
การทำกิจกรรมอื่น ๆ
ผู้ปกครองควรหากิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็ก ๆ เพื่อเบี่ยงเบนเด็ก ๆ ออกจากหน้าจอ โดยกิจกรรมที่เลือกควรเป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจ ทำแล้วสนุก มีความสุข และผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมกับลูก ๆ ได้ เช่น กิจกรรมการเล่นต่าง ๆ ตามช่วงวัย งานประดิษฐ์ งานศิลปะ กิจกรรมทำอาหาร งานบ้าน หรือการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้การที่ผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ จะทำให้เราได้เห็นทักษะความสามารถของลูก ๆ และยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
เรียบเรียงโดย ก.บ. ชนิตพล บุญยะวัตร
เอกสารอ้างอิง
- . สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ทำอย่างไรเมื่อลูกติดมือถือ [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2566]. เข้าถึงจาก: https://www.thaihealth.or.th/ทำอย่างไรเมื่อลูกติดมื-2/
- American academy of child and adolescent psychiatry. Screen time and children [internet] 2020 [cited 2023 Mar 25]. Available from: https://www.aacap.org/AACAP/Families_and_Youth/Facts_for_Families/FFF-Guide/Children-And-Watching-TV-054.aspx
- American academy of pediatrics council on communication and media. Media use in school-aged children and adolescents . Pediatrics [internet]. 2016 [cited 2023 Mar 25]; 138(5):1-6. Available from: 10.1542/peds.2016-2592
- World health organization. Guidelines on physical activity, sedentary behaviour and sleep for children under 5 years of age [internet] 2019 [cited 2023 Mar 25]. Available from: https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/311664/9789241550536-eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y
- American academy of pediatrics council on communication and media. Media and young minds. Pediatrics [internet]. 2016 [cited 2023 Mar 25]; 138(5):1-6. Available from: 10.1542/peds.2016-2591